คำถามที่พบบ่อย

ต้องพิจารณาก่อนว่าการจ้างนั้นเป็นการ “จ้างแรงงาน” หรือ “จ้างทำของ”
การจ้างแรงงาน (นายจ้าง:ลูกจ้าง)

นายจ้างไม่ใช่ผู้ริเริ่มให้สร้างสรรค์งานนั้นๆ แต่เป็นอิสระในการคิดริเริ่มสร้างสรรค์ของลูกจ้าง กฎหมายกำหนดให้ลิขสิทธิ์ในงานที่ลูกจ้างสร้างขึ้นเป็นของ “ลูกจ้าง” แต่นายจ้างมีสิทธิ์นำงานนั้นไปใช้งานตามวัตถุประสงค์แห่งการจ้าง เว้นแต่ทำเป็นหนังสือตกลงกันเป็นอย่างอื่น กฎหมายที่เกี่ยวข้อง : พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 9 งานที่ผู้สร้างสรรค์ได้สร้างสรรค์ขึ้นในฐานะพนักงานหรือลูกจ้าง ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น ให้ลิขสิทธิ์ใน งานนั้นเป็นของผู้สร้างสรรค์ แต่นายจ้างมีสิทธินำงานนั้นออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนได้ตามที่เป็นวัตถุประสงค์ แห่งการจ้างแรงงานนั้น

การจ้างทำงาน (ผู้ว่าจ้าง:ผู้รับจ้าง)
ผู้ว่าจ้างคือผู้ริเริ่มให้เกิดการสร้างสรรค์งานขึ้น จะเน้นที่ผลสำเร็จของงานเป็นสำคัญ โดยผู้รับจ้างมีอิสระในการดำเนินงานที่รับจ้างแต่ต้องทำสำเร็จตามลักษณะและภายในเวลาที่ตกลงกัน กฎหมายกำหนดให้ลิขสิทธิ์ในงานที่ผู้รับจ้างสร้างขึ้นเป็นของ “ผู้ว่าจ้าง” เว้นแต่ตกลงกันเป็นอย่างอื่น กฎหมายที่เกี่ยวข้อง :พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 10 งานที่ผู้สร้างสรรค์ได้สร้างสรรค์ขึ้นโดยการรับจ้างบุคคลอื่น ให้ผู้ว่าจ้างเป็นผู้มีลิขสิทธิ์ในงานนั้น เว้นแต่ ผู้สร้างสรรค์และผู้ว่าจ้างจะได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น

ทั้งสองกรณีสามารถตกลงกันได้เป็นอย่างอื่น ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับคู่สัญญาตกลงกันด้วย และการตกลงต้องระบุงานลิขสิทธิ์ให้ชัดเจน เนื่องจากลิขสิทธิ์ในงานเพลงจะมี 2 งาน ได้แก่ ดนตรีกรรม (เนื้อร้อง/ทำนอง) และ สิ่งบันทึกเสียง (การบันทึก/Master)

คำพูดปกติทั่วไป ที่ไม่ได้ใช้ความวิริยะอุตสาหะตั้งใจสร้างสรรค์ขึ้นมานั้นยังไม่ถึงขั้นได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายลิขสิทธิ์ แต่หากคำพูดเหล่านั้นถูกนำมาสร้างสรรค์ด้วยการนำมาแต่งเรียงร้อยเป็นเพลง (ดนตรีกรรม) หรือถูกบันทึกเป็นเพลง (สิ่งบันทึกเสียง) คำพูดนั้นจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของเพลงๆ นั้นไป ซึ่งเป็นลิขสิทธิ์ของผู้สร้างสรรค์งานเพลงนั้นไม่ว่าจะเป็นดนตรีกรรมและ/หรือสิ่งบันทึกเสียงแล้วแต่กรณี (หมายเหตุ - การนำเสียงพูดของคนอื่นมาประกอบในเพลงโดยไม่ขออนุญาตผู้พูดก่อน อาจเข้าข่ายเป็นการละเมิดผู้นั้นได้ แต่เป็นการละเมิดทางกฎหมาย แพ่งทั่วไป ไม่ใช่ละเมิดลิขสิทธิ์)